เกอิชา คือใครมีหน้าที่อะไร มาทำความรู้จักพวกเธอกัน

579

เกอิชา ภาพคุ้นตาของเราคือผู้หญิงในชุดญี่ปุ่นโบราณ หรือที่เรียกกันว่า ชุดกิโมโน มีการทาหน้าขาวทาปากสีแดง แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วพวกเธอมีหน้าที่อะไรกันแน่

เกอิชา แปลว่า ศิลปิน และยุคแรก ๆ เป็นผู้ชาย

ในยุคเอโดะ เกอิชาเป็นผู้ชาย มีหน้าที่แสดงสร้างความบันเทิงในราชสำนัก จนต่อมากลายเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ที่มีความสามารถด้านการแสดง ดนตรีและนาฏศิลป์ งานศิลปะต่าง ๆ รวมถึงการชงชา และการปรนนิบัติแขกอีกด้วย (แต่ไม่ใช่การดูแลแบบโสเภณีนะ)

พวกเธอไม่ใช่โสเภณี

เรื่องนี้ถูกเข้าใจผิดมานาน คงเป็นเพราะว่าลักษณะงานที่ต้องปรนนิบัติแขก เหมือนกัน โดยเกอิชาจะขายความสามารถด้านการแสดง ส่วน โออิรัน (โสเภณี) จะขายเรือนร่าง ความเข้าใจผิดเป็นไปได้ว่าอาจจะมาจากการสร้างภาพยนตร์ หรือชุดที่ใส่คล้าย ๆ กัน แต่สังเกตให้ดีชุดกิโมโนของเกอิชาจะมีการผูกผ้า“โอบิ” ไว้ด้านหลัง ส่วนโออิรัน จะผูกไว้ด้านหน้า

การแต่งหน้า และชุดที่ใส่

การที่พวกเธอแต่งหน้าสีขาว ทาลิปสติกสีแดง กรีดอายไลน์เนอร์สีดำบริเวณดวงตา นั่นก็เป็นเพราะว่าในสมัยก่อนต้องใช้แสงสว่างจากเทียนไข จึงต้องแต่งหน้าเพื่อให้ตัวเองดูโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ ในงานเลี้ยง ส่วนชุดกิโมโนจะทำด้วยผ้าไหมชั้นดี ทอด้วยมือ ว่ากันว่าแต่ละชุดนั้นต้องใช้เวลาทำถึง 3 ปี จึงทำให้มีราคาที่แพงเป็นอย่างมาก

เกอิชาจะต้องมีรูปร่างที่ไม่สูงหรือผอมเกินไป

รูปร่างของพวกเธอหากสูงเกิน 160 ซ.ม. แล้วไปใส่รองเท้าที่มีความสูงอีก 10 ซ.ม. ก็จะทำให้สูงมากเกินไป หากมีน้ำหนักตัว น้อยกว่า 45 กิโลกรัม แล้วต้องใส่เครื่องประดับ และชุดต่าง ๆ ที่อาจจะมีน้ำหนักมากถึง 10 กิโลกรัม ร่างกายก็อาจจะรับไม่ไหว

พวกเธอไม่สามารถแต่งงานได้

ขณะที่ทำอาชีพนี้อยู่กฎของการเป็นเกอิชาคือห้ามแต่งงาน จะแต่งได้ก็ต้องเลิกทำอาชีพนี้ หรือรอจนกว่าเกษียณ ทำให้พวกเธอมักจะหาผู้ชายที่มีฐานะหรือผู้อุปถัมภ์สนับสนุนค่าใช้จ่ายไปตลอดชีวิตของพวกเธอ

เกอิชาอาศัยอยู่ที่ฮานะมาจิ

หากไปญี่ปุ่น แล้วอยากเจอพวกเธอก็ต้องไปที่ ฮานะมาจิ หรือ เมืองแห่งดอกไม้ ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม โดยจะอยู่ใน เกียวโต และโตเกียว

เมื่อมาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักเกอิชามากขึ้นแล้ว ซึ่งก็ถือว่าเป็นอาชีพเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ช่วยสร้างความบันเทิงมาอย่างยาวนาน และยังถือหนึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงความดั้งเดิมเอาไว้แม้ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม