ที่ดิน ภบท.5 คืออะไร สามารถครอบครองซื้อขายได้หรือไม่

453

ที่ดิน ภบท.5 คือเอกสารที่ดินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องถิ่น โดยจะเรียกกันติดปากว่า ภาษีดอกหญ้า เอกสารแบบนี้ ไม่มีเอกสารสิทธิใดจากกรมที่ดินให้การรับรองการครอบครองหรือถือกรรมสิทธิ์ เพราะถือว่ายังเป็นที่ดินของรัฐ ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เพราะมักจะมีการบุกรุกป่าสงวนนั่นเอง

ที่ดิน ภบท.5

การซื้อขายที่ดิน – การซื้อขายที่ดินประเภทนี้จะเป็นการโอนสิทธิ์ครอบครอง โดยต้องไปแจ้งเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีที่ดินที่ อบต. โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการโอนใด ๆ ทั้งสิ้น

ความเสี่ยงในการซื้อที่ดิน – การซื้อที่ดินประเภทนี้มีความเสี่ยงหลายอย่างเช่น อาจจะเป็นที่ดินที่ผู้อื่นครอบครองอยู่ก่อนแล้ว เป็นที่สาธารณะ เขตทหาร หรือป่าสงวน หากรัฐต้องการยึดคืน ก็ไม่สามารถที่จะคัดค้านหรือทำอะไรได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเรื่องขนาดของที่ดินที่ไม่มีความชัดเจน คลาดเคลื่อน เพราะในเอกสารจะระบุเนื้อที่โดยประมาณเท่านั้น ไม่มีการรังวัด หากในอนาคตมีการออกเอกสารสิทธิ เนื้อที่อาจจะลดลงจากที่ระบุไว้

ดังนั้นหากต้องการจะลดความเสี่ยงในการซื้อที่ดิน ภบท.5 ควรจะตรวจสอบให้ดีไม่ว่าจะเป็นการสอบสอบถามข้อมูลจากกรมป่าไหม้ หรือกรมทหาร รวมไปถึงกรมที่ดินว่าที่ดินผืนนั้นมีผู้ครอบครองสิทธิ์หรือไม่

การขอออกเอกสารสิทธิ์ – สามารถทำได้ โดยต้องเป็นการประกาศจากรัฐให้ผู้ครอบครองที่ดินมาออกเอกสารสิทธิ โดยมีเงื่อนไขว่าที่ดินผืนนั้นต้องไม่อยู่ในเขตป่าไม้ เขตทหาร หรือมีผู้อื่นถือครองอยู่ โดยผู้ซื้อสามารถให้ผู้ขายทำหนังสือแสดงสิทธิตามกฎหมายที่ดินเพื่อยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวสามารถขอเอกสารสิทธิได้จริงเมื่อทางรัฐเรียก โดยตรวจสอบได้กับสำนักงานที่ดินในเขตที่ที่ดินตั้งอยู่

การปลูกสิ่งก่อสร้าง – ผู้ที่ถือครองสิทธิ์ที่ดินสามารถปลูกสร้างบ้าน อาคาร ในที่ดินได้โดยสามารถไปยื่นขออนุญาตที่ อบต. เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ให้ไปยื่นขอเลขที่บ้านจากผู้ใหญ่บ้าน แล้วจึงไปขอทะเบียนบ้านที่อำเภอ หากจะยื่นขอใช้ไฟฟ้า ประปา ก็ทำได้เลย

การจำนองสิ่งปลูกสร้าง – การจำนองสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดิน ภบท.5 สามารถทำได้ แต่ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างนั้น

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คงไขข้อสงสัยเกี่ยวกับที่ดิน ภบท.5 ให้กับหลาย ๆ คนที่กำลังคิดจะซื้อได้ไม่มากก็น้อย แต่อย่างไรก็ตามหากคิดจะซื้อเพื่อปลูกบ้าน เป็นที่อยู่อาศัย ก็ถือเป็นทางเลือกสำหรับคนงบน้อยได้ ถึงแม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่หากตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบถี่ถ้วน ก็ถือว่าลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งเลย