ต่อเติมบ้านไม่ใช่เรื่องที่คิดจะทำก็ทำได้เลยเพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย เพราะมีกฎหมายข้อบังคับ บางคนที่ไม่รู้เมื่อต่อเติมเสร็จก็อาจจะต้องรื้อถอนให้เสียเงินเสียเวลาเพราะต่อเติมไม่ถูกต้อง ดังนั้นก่อนจะต่อเติมควรจะมีแบบแปลน แล้วนำไปขออนุญาตให้เรียบร้อย แต่ก็มีบางกรณีที่สามารถต่อเติมได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ดังนั้นมาดูกันว่าการต่อเติมบ้านแบบไหนที่ต้องขออนุญาต และต่อเติมยังไงให้ถูกกฎหมาย
กรณีไหนที่ต้องขออนุญาตต่อเติมบ้าน
การต่อเติมที่อยู่อาศัยจะต้องขออนุญาตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับลักษณะการก่อสร้าง เช่นการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ของตัวอาคารที่สร้างไว้แต่แรกให้มีความแตกต่างผิดไปจากเดิมไม่ว่าจะเป็นการลดขนาด เพิ่มเติมขยายส่วนต่าง ๆ การเปลี่ยนรูปทรง ปรับสัดส่วน น้ำหนัก ที่ดูแล้วไม่ใช่การซ่อมแซม หรือดัดแปลงตามที่กฎหมายกำหนด ควรต้องมีเอกสารขออนุญาตยื่นให้กับหน่วยงานเจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจพิจารณาก่อน โดยการต่อเติมที่อยู่อาศัย หรืออาคารที่ต้องขออนุญาตสามารถสรุปได้ดังนี้
ต่อเติม ขยาย ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารมากกว่า 5 ตารางเมตรขึ้นไป
ต่อเติม ขยาย หรือเปลี่ยนหลังคาให้ปกคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
ปรับจำนวน เพิ่ม หรือลด เสา ผนัง บันได และคาน
การต่อเติมที่อยู่อาศัย อาคาร แบบไหนที่ไม่ผิดกฎหมาย
การต่อเติมส่วนต่าง ๆ ของอาคารเมื่อเสร็จสิ้นแล้วต้องมีพื้นที่ว่าง ไม่มีหลังคาปกคลุม อย่างน้อย 30%
หากรอบ ๆ บ้าน หรือตัวอาคารชิดติดกับที่ดินของคนอื่น (เพื่อนบ้าน) ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกันเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษร แต่หากเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกันไม่ยินยอมสามารถต่อเติมได้แต่ต้องเป็นผนังทึบและมีระยะห่างอย่างน้อย 0.50 เมตร
หากต่อเติมที่เป็นผนังที่มีหน้าต่างหรือช่องเปิดต้องสร้างห่างจากรั้ว 2 เมตรขึ้นไป
การต่อเติมผนังที่มีหน้าต่าง ประตู ช่องเปิด หรือระเบียงบ้านหากมีความสูงไม่ถึง 9 เมตร ต้องห่างจากที่ดินที่อยู่ติดกัน 2 เมตรขึ้นไป หากสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ต้องห่างจากที่ดินที่อยู่ติดกัน 3 เมตรขึ้นไป
ดังนั้นหากใครวางแผนต่อเติมบ้านหรืออาคาร ก็ควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบเพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาตามมามากมายไม่ว่าต้องปรับปรุงรื้อถอน การถูกปรับเงิน และมีโทษถึงจำคุก (สูงสุดคือทั้งจำทั้งปรับ) รวมไปถึงการมีปัญหากับเพื่อนบ้านที่อาจจะโดนร้องเรียนจนอยู่ไม่สุขได้ ทางที่ดีที่สุดหากจะต่อเติมบ้าน ควรปรึกษาผู้รู้กฎหมาย เพื่อที่จะได้สบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีความผิดตามมาในภายหลัง