มาทำความรู้จักฉนวนกันความร้อนในท้องตลาด

29

ปัจจุบันอากาศร้อนยิ่งขึ้นทุกปีๆ จะเปิดแอร์ก็เปลืองค่าไฟ มีอีกหนึ่งทางเลือกคือ “ฉนวนกันความร้อน” สามารถช่วยลดความร้อนได้และยังช่วยดูดซับเสียงได้อีกด้วย วันนี้มาทำความรู้จักฉนวนกันความร้อน มีแบบไหนบ้าง เผื่อใครอยากจะติดตั้งที่บ้านจะได้เลือกให้เหมาะ 

ฉนวนกันความร้อนคืออะไร 

ฉนวนกันความร้อนคือวัสดุที่สามารถสกั้นความร้อนไม่ให้ส่งผ่านไปยังส่วนต่างๆของบ้าน ในฉนวนจะประกอบด้วยฟองอากาศเล็กๆที่มีคุณสมบัติในการเก็บความร้อน นิยมติดตั้งบนโครงหลังคา และฝ้าเพดาน 

ฉนวนกันความร้อนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 5 ชนิด ดังต่อไปนี้ 

1. ฉนวนกันความร้อนอะลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminum Foil)

เป็นแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ 2 หน้า พื้นผิวมันวาว บางเรียบ มีความเหนียวมากเป็นพิเศษ มีคุณสมบัติช่วยสะท้อนความร้อน แต่ไม่ได้ป้องกันความร้อนเข้าสู่บ้าน ติดตั้งบริเวณของโครงหลังคา และใช้งานร่วมกับฉนวนประเภทอื่น ๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการกันความร้อน 

2. ฉนวนกันความร้อนใยเซลลูโลส (Cellulose)

ผลิตจากเยื่อไม้ หรือเยื่อกระดาษ ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล และใส่สารป้องกันไฟลงไป ฉนวนใยเซลลูโลสแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบเส้นใยอัดเป็นแผ่น แบบคลุม และแบบฉีดพ่น ฉนวนใยเซลลูโลสจึงเหมาะกับการประยุกต์ใช้งานในผนังห้อง รวมถึงใต้หลังคาของอาคาร 

3. ฉนวนกันความร้อนโพลียูริเทน (Polyurethane)

เป็นฉนวนกันความร้อนในรูปแบบโฟม ใช้การฉีดโฟมเนื้อละเอียดไปยังพื้นที่ว่าง อัดทับซ้อนกันจนเป็นแผ่น เกิดเป็นโครงสร้างเซลล์ปิด (Closed Cell) มีช่องอากาศเป็นโพรงเรียกว่า Air Gap จึงสามารถแนบไปกับแผ่นใต้หลังคาได้เป็นอย่างดี สามารถลดการแผ่รังสีจากแสงแดดได้มากกว่า 90% ป้องกันน้ำ และกันความชื้นได้ เหมาะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเรื่องระบายความร้อน 

4. ฉนวนกันความร้อนแคลเซี่ยมซิลิเกต (Calcium Silicate)

เป็นฉนวนที่มีลักษณะพรุน ผลิตจากทรายซิลิเซียส และน้ำปูนขาว มาอบจนเกิดเป็น ปูนขาวไฮเดรต มีทั้งแบบ เส้นใยแร่ และ เส้นใยสังเคราะห์ สามารถตัดต่อได้เหมือนแผ่นยิบซั่ม ทาสีทับได้ ต้านความร้อนได้ถึง 650 องศาเซลเซียส เหมาะกับอุตสาหกรรมที่ใช้อุณหภูมิสูง 

5. ฉนวนกันความร้อนใยแก้ว (Microfiber)

ผลิตจากเส้นใยแก้วที่ละเอียด สามารถ กันความร้อนได้สูงถึง 300 องศาเซลเซียส กันเสียงได้ น้ำหนักเบา และมีความยืดหยุ่นสูง แต่ฉนวนใยแก้วหากโดนน้ำจะยุบตัวทำให้ไม่สามารถป้องกันความร้อนได้ดีเท่าที่ควร จึงควรมีวัสดุหุ้มฉนวนเพื่อกันความชื้นอีกที 

ฉนวนแต่ละประเภทช่วยกันความร้อนเป็นหลัก ช่วยให้อุณหภูมิภายในบ้านลดลงได้ แต่ก็มีคุณสมบัติย่อยที่แตกต่างกันไป เลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานและงบประมาณน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี