ปัญหาต้นไม้ข้างบ้าน แก้ไขอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย

23

กลายเป็นปัญหาเมื่อเกิดความผิดใจกันกับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับเรื่องของต้นไม้ เป็นต้นไม้เราหรือต้นไม้ของเขาก็ตาม มีหลายกรณีที่ไม่ยอมกันและกันทำให้ต้องเสียเวลาศาลก็มีให้เห็นกันบ่อย แต่หากใครไม่อยากมีปัญหาเรื่องของต้นไม้กับเพื่อนบ้าน ก็ควรรู้ข้อมูลกฎหมายเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ไว้บ้างก็จะดี

กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของต้นไม้ 

จริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นกับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับต้นไม้ กำหนดในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงกฎหมายอาญา อย่างชัดเจน มีโทษทั้งปรับ และ/หรือ จำคุก  

หากกิ่งไม้ หรือ รากไม้ของเพื่อนบ้านล้ำเข้ามาในบ้าน ทำอย่างไร ? 

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1347 เราสามารถแยกได้เป็น 2 กรณีดังนี้ 

1. รากไม้ ชอนไซเข้ามาในเขตแดนของเรา 

ถ้ารากไม้ของต้นไม้บ้านข้าง ๆ รุกเข้ามาในที่ดินของเรา เราสามารถตัดได้เลยโดยไม่ต้องบอกเจ้าของ และรากไม้ที่ตัดไว้ถือเป็นสิทธิของเรา ไม่ใช่ของเจ้าของต้นไม้ 

2. กิ่งไม้ ยื่นเข้ามาในเขตแดนของเรา 

ไม่สามารถตัดได้ทันทีต้องแจ้งเจ้าของต้นไม้นั้นให้ตัดก่อน หากแจ้งแล้วเขาไม่ตัด เราจึงจะตัดได้ ไม่เหมือนกับกรณีของรากไม้ 

หากต้นไม่ขึ้นอยู่ตรงกลางระหว่างเขตแนวทั้ง 2 บ้านจะเป็นของใคร ? 

หากต้นไม้ขึ้นอยู่ตรงกลางระหว่างเขตแนว จะถือเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน หากตัดต้นไม้แล้วสิทธิ์ในส่วนของเนื้อไม้ ดอก ผล ถือเป็นของทั้ง 2 ฝ่ายเท่ากัน 

ดอกหรือผลของต้นไม้เพื่อนบ้านที่ล้ำเข้ามาในเขตบ้านเรา เป็นของใคร? 

ดอกหรือผล หากยังไม่หล่นจากต้น และแม้จะล้ำเข้ามาในเขตบ้านเรา ก็ยังถือเป็นสิทธิ์ของเจ้าของต้นไม้ เราไม่สามารถเด็ดกินได้ เว้นแต่จะร่วงหล่นตามธรรมชาติในเขตบ้านเรา แบบนั้นสามารถเก็บกินได้โดยไม่ถือเป็นความผิด แต่หากเจ้าของต้นไม้นำสืบต่อศาลแสดงให้เห็นว่าผลที่ร่วงนั้นเป็นของตนก็ย่อมทำได้  

ความเสียหายที่เกิดจากต้นไม้ของเพื่อนบ้าน ใครรับผิดชอบ? 

ตามหลักทั่วไป ทรัพย์สินของใครทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เจ้าของต้องรับผิดชอบ 

ถ้าเพื่อนบ้านอ้างว่าเป็นต้นไม้ที่ตนไม่ได้ปลูก ขึ้นเองตามธรรมชาติใครต้องรับผิดชอบ ?  

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่าไม้ยืนต้นถือเป็นส่วนควบกับที่ดิน และเจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์ ซึ่งหมายความว่า เจ้าของที่ดินถือเป็นเจ้าของต้นไม้ด้วย ถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจปลูกก็ตาม ก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย  

หากไม่อยากขัดใจ หรือมองหน้ากันไม่ได้กับบ้านใกล้เรือนเคียง ก็ควรทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีอะไรพอพูดคุยหรือตกลงกันได้ ก็ควรยอมกันไปจะดีกว่า ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล